วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


Mario Tamagno

ประวัติโดยสังเขป  นายมาริโอ ตามัญโญเกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2420 ณ.เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ตามาญโญได้เข้าศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ วิทยาลัยศิลปะอัลแบร์ตีนา ผลการเรียนดีเด่นถึงขั้นได้รับเหรียญรางวัลและทุนการศึกษาหลายครั้ง หลังจากสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2438 ได้ร่วมสอนวิชาทางด้านทัศนียภาพวิทยาที่อัลแบ์ตินากับแฟร์โร ผู้ที่แนะนำให้เขาเดินทางมาทำงานที่กรุงเทพฯ คือ สถาปนิกชื่อ คาร์โอ เชปปี ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ตามาญโญจึงออกเดินทางด้วยเรือ "โคนิก อัลเบิร์ต" มายังประเทศสยามและเซ็นสัญญาทำงานราชการในกรมโยธาธิการแทนนายซันเดรสกีซึ่งย้ายไปทำวังสวนดุสิต กรมโยธาธิการขาดสถาปนิกจึงจำเป็นต้องจ้างคนใหม่มาช่วยราชการ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องจ้างคนใหม่ในตำแหน่งหัวหน้า จะจ้างแต่สถาปนิกระดับผู้ช่วย พอที่จะทำงานในหน้าที่ออกแบบเขียนแบบได้ก็พอ เพื่อการจ่ายเงินค่าจ้างจะได้ลดลงด้วย กรมโยธาธิการจึงได้จ้างจ้างนายตามัญโญเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายสถาปัตยกรรม ในพ.ศ.2446 มีเงินเดือน เดือนละ48 ปอนด์ ทำสัญญาเป็นระยะเวลา25ปี โดยหลังจากหมดสัญญานายตามัญโญก็เดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งขณะนั้นอิตาลีอยู่ในช่วงเริ่มต้นของระบอบฟาสซิมส์มีการออกกฏหมายให้สถาปนิกต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสถาปนิก ตามัญโญก็ยังคงประกอบวิชาชีพสถาปนิก ในบรรดาสถาปนิกในเมืองตูรินมีเขาคนเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมสมาชิกพรรคฟาสซิสม์ต่อมาตามัญโญได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งและเสียชีวิตในปีพ.ศ.2484 

นายมาริโอ ตามัญโญ
ผลงานและวิธีการทำงานของสถาปนิกเอกชาวอิตาเลียน

นายมาริโอ ตามัญโญทำงานอยู่ที่สยามเป็นเวลานานถึง25ปี จึงสร้างผลงานไว้มากมายโดยผู้ที่เก็บหลักฐานการทำงานของนายมาริโอคือเอเลนา ตามาญโญ ผู้เป็นหลานปู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สาขาวิชาการออกแบบก่อสร้างอยู่ที่ วิศวกรรมศาสตร์ทีี่ตุริน 

งานชิ้นแรกที่ตามาญโญรับผิดชอบคือ สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่ แบบที่เรียกว่า Avenue ของทวีปยุโรป อยู่ในพื้นที่เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผู้ออกแบบคือ นายคาร์โล อัลเลกรี นายช่างชาวอิตาลี โดยนายตามัญโญนั้นเป็นผู้ช่วนในการออกแบบและคุมงานก่อสร้าง สร้างตามสถาปัตยกรรมอิตาลีและสเปน ใช้เวลา 3 ปี ลักษณะเป็นสะพานโครงสร้างคานเหล็กพื้นคอนกรีต ส่วนประดับคือรางสะพานที่เป็นเหล็กหล่อและดวงตรารูปช้างเอราวัณ ที่กลางสะพานมีเสาหินอ่อน มุมสะพานรองรับโคมไฟสำริด ผนังเชิงลาดสะพานประดับด้วยหินอ่อน สะพานแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นสะพานที่สวยงามสะพานหนึ่งในกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. 2446 และพระราชทานนามว่า สะพานมัฆวานรังสรรค์
อนึ่ง สะพานที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษมนี้มีชื่อเรียกคล้องจองกัน คือ สะพานเทเวศรนฤมิตร สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์ ซึ่งทั้งหมดแปลว่า "สะพานที่สร้างโดยเทวดา"

สะพานมัฆวานรังสรรค์
หลังจากนั้นได้ออกแบบพระที่นั่งอัมพรสถานร่วมกับกอลโลและอัลเลกรี ผลงานชิ้นต่อมาคือ ท้องพระโรงพระที่นั่งอภิเษกดุสิต และวัดเบญจมบพิตร ศาลาไทยที่ตั้งในงานนิทรรศการที่เซ็นต์หลุยส์ใน พ.ศ. 2477  ก็เป็นผลงานของตามัญโญเช่นกัน โดยสร้างจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มีเจรินีเป็นผู้ควบคุมดูแล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากการเสด็จประพาสยุโรปในพ.ศ. 2450 มีการจัดสร้างซุ้มรับเสด็จแบบจีนใกล้ ๆ สะพานผ่านฟ้าลีสาศ ซึ่งต้องบูรณะใหม่ ตามาญโญบันทึกไว้สั้น ๆ ว่า
 "สะพานเก่าพังหมดแล้ว ต้องเร่งซ่อมให้ทันรับเสด็จฯ กลับจากยุโรป"
 และในปีนี้เอง ตามาญโญก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านายช่างสถาปนิก 

สะพานผ่านฟ้าลีลาสและซุ้มรับเสด็จแบบจีน
ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ตามัญโญไม่ใคร่มีเวลาสำหรับความรื่นเริงใด ๆ มากนัก ที่มีการบันทึกไว้เพียงโอกาสเดียวนั้นคือ เมื่อเขาแต่งงานมาเรียนนินา ซุกกาโร เจ้าสาวในอนาคตเป็นผู้เขียนเล่าไว้ มาเรียนนีนาเป็นเพื่อนร่วมสถาบันของตามาญโญ เธอเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 25พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 มาเรียนนาบรรยายถึงความตื่นเต้นในวันก่อนวันแต่งงาน ที่เห็นการเตรียมการต่าง ๆ และเห็นของขวัญแต่งงานที่มีผู้ทะยอยส่งมาให้ไม่ขาดสาย มีทั้งแจกันเซรามิคระบายสีใบเขื่อง ชุดช้อนส้อม โถกาแฟ เหยือกจากเนย หีบซิการ์ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนทำด้วยเงิน และในวันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันแต่งงาน มาเรียนนินาสวมชุดซาตินสีขาว ชายกระโปรงยาว มีผ้าบางคลุมหน้า ถือช่อดอกส้ม เธอนั่งรถม้าไปยังโบสถ์ ซึ่งเจ้าบ่าวรออยู่พร้อมแขกจำนวนมาก ทั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทูตรัสเซีย ทูตเยอรมัน และหัวหน้ากอง โยธาธิการ (คาร์โล อัลเลกรี) พระผู้ประกอบพิธีเป็นชาวฝรั่งเศส คู่บ่าวสาวจึงต้องกล่าวคำตอบรัยเป็นภาษาฝรั่งเศส (oui) แทนที่จะเป็นภาษาอิตาเลีนยน (si) หลังจากพิธีแต่งงานอันหรูหราผ่านไป ชีวิตของตามาญโญก็กลับสู่ความเรียบง่ายดังเดิม ห้องทำงานของเขามีเพียงโคมไฟแบบชักรอก ปฏิทินสภากาชาด พัดลมตั้งโต๊ะ และพระพุทธรูปองค์เล็ก สิ่งที่เป็นของแปลกไปก็มีเพียงบ้านหลังน้อยสำหรับลิง ซึ่งเลาราบุตรสาวเลี้ยงไว้ดูเล่น และรถลากซึ่งใช้รถแทนรถสามล้อซึ่งอยู่ในสวนเท่านั้น แต่ในห้องทำงานอันสมถะนี้เองที่เป็นจุดเริ่มของโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นตำหนักพญาไท ซึ่งมีการทำสวนและทำนาในบริเวณพระราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งตามาญโญออกแบบร่วมกับริก็อตตี การปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงร่วมกับริกัซซี หรือห้องสมุดเนลสัน เฮยส์ ร่วมกับแฟร์โร

บ้านที่ถนนสาทร
ห้องทำงาน
ห้องทำงาน
บุตรสาวของตามัญโญ
การออกแบบตำหนักพญาไท โดยสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งต่างๆ เป็นแบบโรแมนติก มาริโอ ตามัญโญ  ออกแบบพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ส่วนพระที่นั่งอื่นๆ ไม่มีหลักฐานแน่ชัด ตัวอาคารมีการตกแต่งด้วยปูนปั้น ไม้แกะสลัก ตกแต่งภายในเป็นปูนปั้นและจิตรกรรมปูนเปียก มีความแปลกน่าตื่นใจ และงดงามด้วยฝีมือช่างที่ละเอียดประณีต ภายในบริเวณพระราชวังมีภูมิสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือ สวนโรมัน ซึ่งเป็นสวนแบบโรแมนติกเช่นกัน 

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
และผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งที่เป็นที่รู้จักของมาริโอตามัญโญซึ่งก็คือพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิตตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกองพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างเป็นองค์สุดท้ายของพระราชวังนี้ กล่าวคือสร้างหลังจากเริ่มสร้างพระราชวังดุวิตมา 10 ปี ในปีพ.ศ.2451 เป็นพระราชวังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสร้างอย่างหรูหราที่สุดในรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาสร้างกว่า 8 ปี จนสำเร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเขียนแบบตามกระแสพระราชโองการ 
ลักษณะผังโดยรวมของพระที่นั่งอนันตสมาคมดูคล้ายไม้กางเขน ที่มีแขน 2 แขน แต่ความจริงแขนกางเขนที่สำคัญมีเพียงแกนเดียวคือแกนตัดด้านตะวันออก ตรงที่เป็นโถงกลาง (CROSSING) ครอบด้วยหลังคาโดมขนาดใหญ่ ส่วนที่ดูเหมือนแกนตัดด้านทิศตะวันตกความจริงเป็นห้องกลมที่ยื่นออกมาจากแกนอาคารทั้ง2ข้าง มุขกลมนี้นอกจากประโยชน์ใช้งานแล้วถูกเสริมเข้าไปเพื่อให้ผังดูเด่นขึ้น

ผังพื้นพระที่นั่งอนันตสมาคม
หากดูอย่างิเคราะห์จะเห็นว่า ผังพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นการออกแบบผสมผสานผัง 3 ชนิดเข้าด้วยกัน คือผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าของส่วนทองพระโรงฝ่ายใน โดยมีห้องสำราญพระราชอิริยาบถรูปกลมเพิ่มเติมเข้าไป ผังรูปไม้กางเขนแบบแขนเท่ากัน (Greek cross)ของท้องพระโรงกลาง กับผังรูปไข่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าของที่ตั้งบันไดใหญ่ทางทิศตะวันออก เมื่อรวมกันเข้าจะเป็นผังแบบไม้กางเขนแกนยาวที่เน้นจุดศูนย์กลาง(ตรงจุดตัด) อันเป็นลักษณะสำคัญของผังอาคารยุคเรเนสซองส์ อย่างไรก็ตามหากพิจรณาการวางผังพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วจะเห็นว่ายังจัดลำดับการเข้าถึงจากหน้าไปหลังในทำนองเดียวกับพระที่นั่งโบราณของไทย คือมีท้องพระโรงอยู่ข้างหน้า ท้องพระโรงฝ่ายในอยู่ข้างหลัง ส่วนพระที่นั่งประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ตรงกลาง ขณะเดียวกันหากพิจรณาทิศทางการวางอาคารก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการวางอาคารแบบไทยไม่ใช่ตะวันตก เพราะทางเข้าหลักของโบสถ์ฝรั่งที่มีผังแบบเดียวกับพระที่นั่งนี้จะต้องเข้าทางตะวันตก หรือพูดง่ายๆว่าจะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่พระที่นั่งอนันตสมาคมกลับมีทางเข้าใหญ่อยู่ที่ทิศตะวันออก และที่แปลกกว่านั้นคือ ที่เพดานครึ่งโดมด้านตะวันตกสุดนั้น วาดภาพพระพุทธชินราชขนาดใหญ่อยู่ด้วย เสมือนหนึ่งอันเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ทางปลายสุดด้านตะวันตก พระที่นั่งองค์นี้จึงวางผังประดุจเช่นวัดไทยวัดหนึ่งนั้นเอง เข้าข่ายการทำตึกฝรั่งให้เป็นไทย


ภาพพระพุทธชินราช
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นมาแบบสถาปัตยกรรม แบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ และแบบนีโอคลาสสิก(Neo classic) ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมือง คารารา (Carara) ประเทศอิตาลี องค์พระที่นั่งเป็นอาคารมหินอ่อนสองชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบตึก 6โดม รวมทั้งสิ้นมี โดม ส่วนกว้างขององค์พระที่นั่ง ประมาณได้ 47.49 เมตร ยาว ประมาณ 112.50 เมตร ส่วนสูงประมาณ 47.49 เมตร




ภาพขณะกำลังก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
 การออกแบบสถานีหัวลำโพงสถาปัตยกรรมของตัวสถานีเป็นแบบคลาสสิก (Classicism) คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก –โรมันซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ตัวสถานีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คืออาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่(โดมคล้ายสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์)จุดเด่นของสถานีหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอา กาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสาน กลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้าน นอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะและอีกส่วนคือบริเวณที่พักผู้โดยสารเป็นห้องโถงชั้นครึ่ง ชั้นล่างซึ่งมีที่นั่งจำนวนมาก และมีร้านค้าหลากหลาย

เปรียบเทียบสถานีหัวลำโพงและFrankfurt station
ตามัญโญออกแบบศาลาไทยสองหลัง หลังแรกสร้างแบบที่กรุงเทพฯ ร่วมกับกอลโลและมันเฟรดี และนำไปตั้งแสดงที่ปาร์โก เดล วาเลนติโน ในพ.ศ. 2454 หลังที่สองนำไปแสดงที่งานนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก ในพ.ศ. 2457 โดยมิสปิญโญเป็นผู้ประกอบติดตั้ง

ภาพวาดศาลาไทยที่สวนวาเลนติโน อิตาลี


ภาพถ่ายศาลาไทยที่สวนวาเลนติโน อิตาลี
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามัญโญได้ออกแบบบ้านนรสิงห์และบ้านพิษณุโลก สนามกีฬา อัฒจันทร์ สนามแข่งม้า และพระราชวังชายทะเลสำหรับการแปรพระราชฐาน ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับฟอร์โน โมราสกี และตาเวลลา นอกจากนี้ ยังมีงานออกแบบอาคารกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง สะพานที่มีซุ้มประดับอันงดงามที่นครปฐม แสตมป์และเหรียญที่ระลึกต่าง ๆ ทว่างานเหล่านี้มิได้บอกอะไรเกี่ยวกับตัวตามัญโญ นอกจากแสดงถึงความขยันหมั่นเพียรของเขาเท่านั้น ตามัญโญยังคงเป็นบุรุษผู้เงียบขรึม ตามแบบฉบับของชาวปิเอมองต์อยู่โดยไม่เปลี่ยนแปร

ตามัญโญได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก และได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์ชั้น Cavaliere della Corona จากรัฐบาลอิตาลี และชั้น Officier de l' Instruction Publique จากรัฐบาลฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 วิทยาลัยศิลปะอัลแบร์ตีนาได้แต่งตั้่งให้เขาเป็นราชบัณฑิต


ประจักษ์พยานแห่งความขี้อายของนายช่างสถาปนิกผู้นี้คือ ภาพถ่ายพิธีเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - เพชรบุรี ซึ่งเขาเขียนชื่อผู้ที่อยู่ในภาพ ใกล้องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ทุกคน ยกเว้นชื่อตัวเอง และเขียนคำอธิบายไว้ว่า

"แทนที่จะอยู่ร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ผู้ลงนามข้างท้ายนี้​ ซึ่งมิได้สวมหมวกจึงหลบแดดเข้าไปอยู่หลังคนอื่นในศาลาอย่างกล้าหาญ"


อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้จัดให้เขาอยู่ในตำแหน่งที่เขาควรอยู่แล้ว

วิศวกรชาวอิตาเลียนที่ไซท์งานก่อสร้างทางรถไฟกรุงเทพฯ - เพชรบุรี
จากประวัติเท่าที่สืบหามาได้พร้อมกับเรื่องราวที่เขียนถึงชีวิตส่วนตัวอันน้อยนิด จึงสามารถวิเคราะห์ถึงความสามารถความเพียรของสถาปนิกเอกชาวต่างชาติคนนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งความจงรักภักดีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานสถาปัตยกรรมในประเทศสยามนี้โดยไม่คำนึงถึงความสุขส่วนตัวของตนเอง  ทั้งยังเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและใช้ชีวิตอย่างสมถะ เป็นแบบอย่างที่ดีของสถาปนิกทุกคนที่สมควรจะนำมาใช้ในการทำงานและการปฏิบัติชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า


เที่ยว1วันตามรอยมาริโอ ตามัญโญ

 การเดินทางตามรอยสถาปนิกเอกของกรุงสยามในวันเดียวโดยเป็นการเดินทางรอบพระนครนะครับลองมาติดตามดูว่าผลงานของนายมาริโอ ตามัญโญนั้นแทรกตัวอยู่ในเมืองกรุงนี้ได้อย่างงดงามและแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของสถาปนิกชาวตูรินนี้ได้เป็นอย่างดี
 เราเริ่มต้นการเดินทางนี้จากพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิตถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 แล้วเสร็จในช่วงรัชกาลที่6นะครับ ถูกยกย่องว่าเป็นท้องพระโรงที่อลังการและสร้างอย่างสง่าที่สุด


ซึ่งภายในพระที่นั่งนี้งดเว้นการถ่ายรูปทุกชนิดจึงได้แต่ถ่ายรูปห่างๆเท่านั้นครับ



แสดงความวิจิตรของตัวพระที่นั่งซึ่งแกะสลักตัวหินอ่อนได้อย่างงดงาม

ทางเข้าหลักของตัวพระที่นั่ง ซึ่งทางซ้ายจะเป็นทางเข้าสู่บันไดที่เชื่อมไปสู่ท้องพระโรงส่วนด้านขวาจะเชื่อมกับห้องรับรอง
ซึ่งในตอนนี้ที่พระที่นั้งอนันตสมาคมนั้นมีนิทรรศการศิลป์แผ่นดินครั้งที่6 ซึ่งจัดแสดงงานศิลป์ของแผ่นดินที่หาค่ามิได้และมีความสวยงามระดับที่กล่าวได้ว่าที่สุดในแผ่นดินจริงๆ สมควรแก่การเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างผลงานที่ถูกนำมาจัดแสดง

บุษบกจตุรมุขพิมาน
      บุษบกเรือนยอด กลางใหญ่จำหลักไม้สักทองและเครื่องประกอบจำหลักไม้อุโลก ไม้โมกอย่างประณีต ออกมุขเป็นเรือนยอดบุษบกเล็กออกไปทั้ง ๔ ทิศ  จำหลักอย่างวิจิตรเช่นกัน  ยอดประดับบันแถลง ปักบราลี ตลอดทั้ง ๕ ยอด โดยเฉพาะทวยพิเศษรูปครุฑยุดนาค ประดับสาหร่าย ออกรูปพรหมรักษ์รวงผึ้ง เสาจำหลักพิศดารติดกาบพรหมศร ประจำยามรัดอก มีพนักจำหลักพุ่มเข้าบิณฑ์ พนักหน้าทั้ง ๔ มุข รูปเทพยดาเชิญพระแสงขรรค์ พื้นซับปีกแมลงทับ  ฐานสิงห์ ท้องไม้รายด้วยรูปครุฑ นาค ฐานสิงห์ล่างท้องไม้  ประดับรูปนรสิงห์อยู่รายรอบ
ในเรือนบุษบกพิมานห้องใหญ่ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒
รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ บุษบกพิมานมุขตะวันออก ประดิษฐานพระราชลัญกร รัชกาลที่ ๙  รูปพระแท่นอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มุขพิมานทิศใต้ประดิษฐานพระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๖ รูปพระมหาวชิราวุธ มุขบุษบกพิมานมุขตะวันตก ประดิษฐานพระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๘  รูปพระสันตดุสิตโพธิสัตว์ มุขบุษบกพิมานด้านทิศเหนือประดิษฐานพระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๗ รูปสามพระแสงศร

ผู้ทำ  ๑๑๓   คน

ใช้เวลาทำ  ๒ ปี ๒๗ วัน

ตำนานเพชรรัตน์  
ฉากจำหลักไม้ ตั้งประกับด้วยเสาเม็ดทรงมัณฑ์บนม้าไม้ขาคู้ จำหลัก ลายใบเทศ พื้นฉาก   
จำหลักไม้เรื่อง ตำนานเพชรรัตน์ ความว่า เทพยุดาเจ้าทั้งหลาย อีกทั้งฤาษีสิทธิ์ และคนธรรพ์ พากันขึ้นเฝ้าพระอิศวร ทูลถามบ่อเกิดแห่งเพชรรัตน์ ทั้ง ๙ ประการ พระอิศวรแนะให้ไปถามพระฤาษีอังคต ผู้มีอายุยาวมาแต่ครั้งกฤติยุค พระฤาษีจึงเล่าว่า บรรดาเทพนิกร  ฤาษีสิทธิ์ พิทยาธร ทั้งปวง ประสงค์จะอำนวยเพชรรัตน์ทั้ง ๙ จึงทูลให้มเหสักข์ นาม มหาพลาสูร สร้างไว้เป็นสวัสดิมงคลแห่งโลกย์ ท้าวจึงบำเพ็ญตบะอยู่ ๗ วัน จนสิ้นชีพ อีก ๗ วัน ร่างของท้าวเธอจึงแปรสภาพไปเป็นแก้ว ๙ ชนิด คือ หัวใจ
เป็นเพชรและทับทิม นัยน์ตาขวาเป็นแก้วไพฑูรย์ นัยน์ตาซ้ายเป็นแก้วโกเมน  ลิ้นเป็นแก้วประพาฬ
น้ำเลี้ยงหัวใจเป็นแก้วจันทกานต์ เป็นต้น
อนึ่งเมื่อท้าวมหาพลาสูรสิ้นชีวิตร มีพระยาพาสุกินนาคราช สูบโลหิตท้าวจนแห้ง นาคนั้นถูกครุฑ
จับไป ระหว่างทางสำรอกเลือด เป็นแก้วนาคสวาสดิ และมรกฎ น้ำลายเป็นครุทธิการ

ผู้ทำ       ๖๙    คน
ใช้เวลาทำ   ๑๐ เดือน ๓  วัน

และยังมีงานชิ้นเอกอีกมากมายซึ่งความรูปสึกที่ได้เข้าไปสัมผัสกับงานชิ้นเอกเหล่านี้รวมเข้ากับความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่มีพลังแล้ว สามารถกล่าวได้เลยว่าเป็นความประทับใจอย่างหาที่สุดมิได้จริงๆ ซึ่งภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เป็นสถาปัตยกรรมฝรั่งที่แฝงความเป็นไทยไปในรายละเอียดทั้งงานตกแต่ง และภาพเขียนที่โดดเด่นและสวยงามบนเพดาน และด้วยสเปซของตัวโดมที่ทำให้ตัวท้องพระโรงนี้ดูยิ่งใหญ่แล้ว จึงเกิดความรู้สึกที่อธิบายเป็นคำพูดได้ยากเหลือเกินครับ


ซึ่งนิทรรศการงานศิลป์แผ่นดินจะเปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์ 10.00-17.00 ครับ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ผมแนะนำให้ไปดูและอย่าพลาดเลยครับ

จากพระที่นั่งอนันตสมาคมเรามาดูสถาปัตยกรรมชิ้นแรกที่นายมาริโอ ตามัญโญได้มีส่วนร่วมในการสร้างนั้นคือสะพานมัฆวานรังสรรค์ครับ ซึ่งสามารถเดินทางมาจากถนนราชดำเนินนอกจากตัวพระที่นั่งได้เลย สะพานนี้ใช้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมครับ โดยเป็นโครงสร้างคานเหล็กพื้นคอนกรีต ส่วนประดับคือรางสะพานที่เป็นเหล็กหล่อและดวงตรารูปช้างเอราวัณที่กลางสะพาน มีเสาหินอ่อนมุมสะพานรองรับโคมไฟสำริด ผนังเชิงลาดสะพานประดับด้วยหินอ่อน


ดวงตรารูปช้างเอราวัณ 

เสาหินอ่อนมุมสะพานรองรับโคมไฟสำริด
 พอเสร็จจากสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้วเป้าหมายต่อไปของเราคืออาคารกระทรางพาณิชณ์เก่าหรือในปัจจุบันคือสถานที่ตั้งของมิวเซียมสยามครับ
 เป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีผังเป็นรูปตัวอี (E) ก่ออิฐถือปูนเรียบทาสีเหลืองอ่อนโดยออกแบบให้มีระเบียงในส่วนด้านหน้าของอาคารทุกชั้น 




 โดยทางเข้าด้านหน้าเป็นโถงบันไดไม้ที่สวยงามและดูมีมนต์ขลังของสถาปัตยกรรมในยุคต้นศตวรรษที่20


 ตัวอาคารออกแบบให้มีระเบียงอยู่ทางด้านหน้าซึ่งใช้เป็นตัวเชื่อมพื้นที่


 โดยการตกแต่งเริ่มมีการทำให้เรียบง่ายตามสมัยนิยม ที่เริ่มจะมีการเปลี่ยนแนวทางในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น (simplified ) แต่ยังคงกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมยุคเรเนสซองค์ไว้อย่างเลือนลาง และเป็นเสน่ห์ที่สำคัญให้อาคารนี้ดูคลาสสิคอย่างดีทีเดียว
ลดการตกแต่งละประดับประดาลง

ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบของสถาปัตยกรรมเรเนสซองค์

โถงทางเข้า




ต่อจากอาคารกระทรวงพาณิชย์นะครับสถานที่ต่อไปที่เราจะไปเยือนนั้นได้ชื่อเป็นสถานที่ที่สวยงามมากชิ้นหนึ่งและเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกที่ทำให้นายมาริโอ ตามัญโญถูกจดจำเลยทีเดียว นั้นคือห้องสมุดเนียลสันเฮย์ครับ 


ประวัติโดยสังเขปของห้องสมุดแห่งนี้นะครับ ภายหลังการเสียชีวิตของนางเจนนี่ เนลสัน เฮส์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุดบางกอก ไลบารี แอสโซซิเอชั่น ร่วมกับภรรยาหมอบรัดเลย์ และหมอสมิธ เพื่อให้บริการ แก่ชาวต่างชาติ นายแพทย์เฮส์แพทย์ใหญ่ประจำการในกรมการ แพทย์ทหารเรือไทย ผู้เป็นสามีได้สร้างอาคารห้องสมุด  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักขึ้นในพุทธศักราช 2464





โดยปกติแล้วตามที่นายมาริโอ ตามัญโญออกแบบไว้นั้นทางเข้าหลักจะอยู่ที่ตัวโดมที่ติดกับถนน แต่ทว่าในปัจจุบันทางเข้าถูกปรับเปลี่ยนให้เข้าจากทางด้านข้างเพราะ ที่จอดรถของตัวห้องสมุดอยู่ทางด้านข้าง และต้องการให้มีเพียวทางเข้าเดียวเพื่อสะดวกแก่การดูแลผู้ใช้บริการ ทางเข้าทางด้านหน้าเลยถูกปิดไป

ทางเข้าเดิม ซึ่งเชื่อมต่อกับโถงด้านใน

รูปด้านหน้าที่นายมาริโอ ตามัญโญออกแบบไว้
ภาพบรรยากาศภายใน
โดยพอเข้ามาก็สัมผัสได้ถึงความขลังของห้องสมุดแห่งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยบนนยากาศราวกับอยู่ที่ต่างประเทศเลย การทำให้เพดานยกสูงขึ้นทำให้เกิดสเปซที่ดูโปร่ง รวมเข้ากับช่องแสงที่เจาะจากอาร์คของช่องหน้าต่างทำให้มีความสวยงามเป็นพิเศษในยามบ่ายในวันสบายๆที่แสงลอดผ่านเข้ามา

ภาพบรรยากาศภายใน
ส่วนการตกแต่งโดยใช้ตัวสถาปัตยกรรมทั้งรูปแบบเสา ทั้งในส่วนของอาร์คต่างๆ และเพดานสูง ยิ่งช่วยเสริมความสง่าให้ห้องสมุดแห่งนี้ได้อย่าสมบูรณ์

และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือสเปซของโถงที่โดมครอบอยู่ทางด้านหน้านั้น ให้ความรูปสึกที่สวยงามอย่างยิ่งทั้งยังมีการเจาะช่องแสงให้แสงจากภายนอกส่องลงมา และยังมีศิลาจารึกที่กล่าวถึงภรรยาที่จากไปด้วยนั้น ทำให้เป็นโถงที่ให้ความรู้สึกที่พิเศษจริงๆ

ภายบรรยากาศโถงทางเข้าหลัก(อดีต)
ถ้อยคำจารึกเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่ภรรยา
ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้ห้องสมุดนี้สวยงามดั่งคำกล่าวที่มีคนขนานนามว่าห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพได้จริงๆ อีกทั้งยังได้ชื่อว่าทัชมาฮาลของคนรักการอ่านหนังสือ ด้วยเพราะสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความทรงจำ และความคิดถึงของคนหนึ่งๆ จึงทำให้ให้สถานที่แห่งนี้พิเศษยิ่งขึ้นและจะคงความพิเศษนี้อีกนานและนานต่อไปสมกับชื่อห้องสมุดแห่งความรักจริงๆครับ



ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ผมคงขอจบลงด้วยสถานที่แห่งความทรงจำที่พิเศษยิ่งนี้ การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมทราบถึงความสามารถที่ยอดเยี่ยมของนายตามัญโย เขาสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมที่รองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบตั้งแต่พระตำหนัก พระที่นั่ง อาคารสำนักงานจนถึงสถานที่เล็กๆอย่างห้องสมุด หรือสะพานซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ชัดถึงความสามารถที่ไม่เป็นรองใครของยอดสถาปนิกจากอิตาลีผู้นี้ได้ครับ

ขอขอบคุณ นายมาริโอ ตามัญโญ

ขอขอบคุณขอมูลจาก

ช่างฝรั่งในกรุงสยาม , ศาสตาจารย์ผุสดี ทิพทัส โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2541
สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยามสมัยรัชกาลที่4-2480 , สมชาติ จึงสิริอารักษ์
ชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย (140 ปีความสัมพันธ์ไทยอิตาเลียน) , สถานทูตอิตาลี 2551


ภาพประกอบจาก

 http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=haiku&month=06-2010&date=29&group=20&gblog=1





วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พี่กลาง Agaligo Studio

ปั๊บ : ก็ขอเริ่มที่ข้อแรกนะครับพี่กลาง อยากทราบประวัติพี่สักเล็กน้อยว่าเรียนจบเมื่อปีไหน เรียนต่อที่ไหน ตอนนี้ทำงานยังไงครับ

พี่กลาง : พี่ชื่อพี่กลางนะคะพี่เรียนจบจากที่นี้เมื่อปี2532ถ้าเข้าเรียนก็ปี2527เป็นรุ่นน้องพี่ไก่ปีนึง พอจบออกมาก็ไปทำงานที่บริษัท Tandem อยู่8ปีคะจากนั้นก็ไปศึกษาต่อที่ M.arch ,UW(University of Washington, Seattle) ซึ่งระหว่างศึกษาเนี้ยเนื่องจากเราเป็นคนที่อายุมากกว่านักศึกษาทั่วไปที่นั้น(หัวเราะ) อาจารย์จึงมักเรียกเราให้เป็นผู้ช่วยสอนด้วย

university of washington


ปั๊บ : แล้วการเรียนการสอนที่ต่างประเทศเนี้ยแตกต่างจากเมืองไทยมากไหมครับ

พี่กลาง : จะว่าไปก็คล้ายกับเราตอนปี5นะ แต่การเรียนที่นั้นเค้าจะเน้นให้เราโชว์ความสามารถที่เราถนัดและเด่นชัด ซึ่งการศึกษาในระดับปริญญาโทคือการแสดงความสามารถของเราให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ให้ได้ด้วยวิถีการหนึ่งๆ ซึ่งจะแตกต่างจากการเรียนที่เราผ่านมาการทำวิทยานิพนธ์ก็เหมือนกับแสดงออกว่าเราตั้งใจและสนใจในเรื่องไหนเราเข้าไปอยู่กับมันได้ด้วยวิธีอะไร

ปั๊บ : หัวข้อวิทยานิพนธ์ของพี่คืออะไรครับ

พี่กลาง : คือตอนที่พี่ทำวิทยานิพนธ์มรอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์มาก และพี่ก็สนใจในเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้พื้นที่ว่างหนึ่งๆว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร พี่จึงขอคำปรึกษาอาจารย์และนำทั้ง2อย่างมาผนวกกัน ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมต่างๆกันของผู้ใช้พื้นที่ในพื้นที่หนึ่งๆเช่นการกินข้าวเรากินกันอย่างไร การจัดวางเฟอร์นิเจอร์สิ่งของ ซึ่งพี่เชื่อว่าพฤติกรรมของผู้ใช้งานเป็นจุดสำคัญในการออกแบบสเปซและจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวงานคะ

ปั๊บ : หลังจากจบแล้วพี่กลับมาที่เมืองไทยเลยไหมครับ

พี่กลาง : ยังคะอาจารย์ขอให้ช่วยงานในมหาลัยก่อนอีก1ปีหลังจากนั้นจึงค่อยเดินทางกลับคะ

ปั๊บ : หลังจากกลับมาพี่ทำงานที่ไหนต่อครับ

พี่กลาง : พี่เรียกได้ว่าโดนบริษัท Tandem ดึงตัวกลับไปแทบทันทีที่ลงจากเครื่องเลยคะเพราะเป็นสถาปนิกเก่าของเค้า เค้าจึงจัดระบบให้พี่เป็นฝ่ายบริหารแล้วคอยดูแลงานในส่วนต่างๆในบริษัทซึ่งมาถึงจุดนึงพี่คิดว่ามันไม่ใช่ตัวพี่ เพราะพี่เป็นคนรักในงานออกแบบและก็อยากออกแบบ เวลาในการออกแบบของสถาปนิกคนนึงมันน้อยนะพี่ว่าเราจะได้ออกแบบแค่ช่วงแรกๆที่เราจบออกมาเท่านั้นแหละ พอเราแก่ตัวและมีความสามารถความรับผิดชอบมากขึ้น เราก็ต้องไปดูแลงานที่สเกลใหญ่มากขึ้นการที่เราจะได้งานมานั่งออกแบบนั้นน้อยมาก พอถึงจุดอิ่มตัวกับงานบริหารพี่ก็ลาออกมาทำ Freelance คะ

ปั๊บ : งาน Freelance ที่พี่ทำนี้ทำงานในลักษณะไหนครับ

พี่กลาง : พี่ออกมาเปิดบริษัทเล็กๆชื่อว่า AGALIGO STUDIO กับพี่เล็กซึ่ง Agaligo นี้มาจากภาษาบาลีแปลว่าไม่ขึ้นกับกาลเวลาเป็นการสื่อถึงว่างานของเรานั้นจะไม่ได้แก่หรือเชยตามการเวลาเป็นงานที่ดึงเอาตัวผู้ใช้สะท้อนออกมาในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งตอนที่พี่เริ่มออกมาทำ Freelance พี่อายุประมาณ35-36ปี โดยงานส่วนมากที่รับในช่วงนั้นคือได้มาจากลูกค้าเก่าของเราที่ติดใจผลงานสมัยที่ยังอยู่ที่ออฟฟิตเก่าเลยตามเราออกมาด้วย งานที่พี่รับส่วนมากจะสเกลไม่ค่อยใหญ่นักนะ เป็นงานสเกลบ้าน resort apartment condo ซึ่งพี่ไม่ค่อยสนใจทางด้าน commercial เท่าไหร่นั้นซึ่งหากลูกค้าคนไหนมีแนวความคิดไม่ตรงกันพี่จะแนะนำให้ไปทำกับคนอื่นดีกว่าเพราะจะเสียความรู้สึกทั้งสองฝ่าย พี่อยากให้งานออกมาดีที่สุดโดยตรงใจทั้งเจ้าของและผู้ออกแบบ จะได้ทำงานง่ายและมีความสุขทั้ง2ฝ่าย

agaligo studio
ปั๊บ : ครับแล้วทำ Freelance นี้ดีกว่าทำงานในบริษัทใหญ่ไหมครับ

พี่กลาง : ดีกว่านะมันเป็นอิสระกว่าโดยความคิดของพี่ พี่จะตกลงกับพี่เล็กไว้ว่าเราจะทำงานปีเว้นปีนะเพือให้เราได้ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ เติมพลังของตัวเองแล้วกลับมาลุยงานกันต่อ ซึ่งงานแต่ละงานที่เรารับเราก็ดูแลทั้งหมดจริงๆ ตั้งแต่ออกแบบ งานโครงสร้าง งานอินทีเรียน งานตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ จนบางครั้งลามไปถึงการออกแบบชุดพนักงาน เนื้อผ้า ชุดเครื่องจานชามช้อน เมนูอาหาร ถึงเพลงที่เปิดในรีสอร์ทนั้นๆเลยก้มี (หัวเราะ)

ปั๊บ : โห ทำไมพี่ต้องทำถึงขั้นนั้นครับ

พี่กลาง : พี่ว่าบางครั้งมันเกิดจากตัวเราด้วยนะ พอเราทำอะไรสักอย่างแล้วเรารู้สึกชอบเราจะพยายาม keep concept ให้กับลูกค้าพอเราทำไปถึงขั้นหนึ่งลูกค้าจะเห็นความจริงใจของเราแล้วก็เชื่อเรานะ เห็นว่าเราพยายามให้สิ่งดีดีกับเค้า ซึ่งอย่างที่พี่ว่าไว้ว่าตัวงานสถาปัตยกรรมของเราต้องสะท้อน Character ของเจ้าของให้มากที่สุดเราเป็นเหมือนกระจกที่พยายามทำให้เจ้าของภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง เอกลักษณือย่างหนึ่งในการออกแบบของพี่คือการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้เป็นหลัก มีสถาปนิกหลายคนมีปัญหาเวลาคุยงานกับอินทีเรียเพราะจะโดนเปลี่ยนแบบไปเยอะมาก นั้นเพราะเราไม่สนใจในพฤติกรรมจริงๆ ถ้าเราศึกษานะเราจะรู้ถึงการเปิดช่องเปิดกับความสัมพันธ์ในพฤติกรรมของผู้ใช้ในพื้นที่นั้นด้วย

ปั๊บ : งานเยอะขนาดนี้พี่มีคนช่วยไหมครับ

พี่กลาง : พี่มี Outsource 4คนซึ่งแต่ละคนก็จะเก่งไปคนละแบบบางครั้งเราก็มั่นใจในฝีมือให้เค้าไปออกแบบมาบ้างแล้วเราช่วยเค้าตรวจแบบ และใช้ชื่อผลงานในนามบริษัทคะ

ปั๊บ : งั้นข้อถัดไปนะครับพี่ งานหรือผลงานที่พี่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพครับ


พี่กลาง : อืมมีหลายงานที่พี่ชอบนะ มีHotel des artists, rose of pai เป็นงานหนึ่งที่พี่ชอบมากคือเจ้าของมีพื้นที่อยู่ที่ปายเป็นบ้านร้างเค้าต้องการรีโนเวทบ้านร้างประจำปายเนี้ย ให้กลายเป็นโรงแรมเล็กๆขนาด14ห้อง โจทย์ของเราเหมือนเราเข้าไปชุบชีวิตให้กับสิ่งก่อสร้างนี้ให้มันกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งการทำงานที่พี่ชอบคือการรีโนเวทครั้งนี้ พี่แทบไม่ทิ้งอะไรออกไปจากตัวงานเลย การปรับปรุงโครงสร้างไม้ชั้นใต้ถุนมีการดีดบ้านแล้วเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูน พี่ก็นำไม้ที่เอาออกมามาดีไซน์ตัวอาคารล้อบบี้ทางด้านหน้า เฟอร์นิเจอร์เก่าๆเชยๆในบ้านพี่ก็นำมาตกแต่งใหม่หาที่วางที่เหมาะสมให้กับเค้า กลายเป็นมันเก๋ไปเลย ลายฉลุเชยๆ พอนำมาพ่นสีดำแล้วติดเข้าไปกับผนังกลายเป็นว่ามันเท่ห์ไปซะอย่างนั้น งานนี้พี่ค่อนข้างมีความสุขกับมันมาก อีกอย่างช่วงเวลาที่ทำงานชิ้นนี้คือทำในปีเที่ยวของพี่ พี่เลยได้ไปอยู่กับมันออกแบบที่หน้างานเลยและผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี เพราะเราไม่ได้ไปสร้างสิ่งใหม่ งานชิ้นนี้เป็นการเคารพต่อชุมชนรอบข้างและพัฒนาสิ่งที่ไม่ดีให้กลับมาชีวิตใหม่อีกครั้งเหมือนกับเราไม่ได้เข้าไปทำลายชุมชนนั้นแต่คืนสิ่งดีดีกลับไปให้เค้าต่างหาก
บ้านร้างประจำเมืองปาย กลายมาเป็นโรงแรมสุดฮิป
เสาไม้เก่าจากการรีโนเวทอาคารห้องพักนำมาใช้ออกแบบล้อบบี้

ปั๊บ : แล้วงานที่คิดว่ามีอุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพละครับ

พี่กลาง : อุปสรรคเหรอ มีทุกงานแหละวิชาชีพของเราต้องอยู่คู่กับอุปสรรคนะ อย่างโรงแรมที่ปายเนี้ยอุปสรรคสำคัญเลยคือเรื่องวัสดุกับตัวช่างเพราะเราต้องหาวัสดุจากพื้นที่แถบนั้นซึ่งค่อนข้างมีจำกัด อีกเรื่องคือตัวช่างซึ่งต้องใช้ช่างในพื้นที่ ซึ่งช่างคนนี้มีอายุมากแล้วแต่มีฝีมือดี แต่ต้องดูแลแกดีดีเพราะแกขึ้นลงบันไดไม่ไหวแล้ว ต้องไปรับไปส่งที่บ้านด้วย
งานส่วนมากที่พบเจอในด้านของอุปสรรคเลยคือผู้รับเหมา เพราะเราเป็นบริษัทเล็กการคุยงานกับผู้รับเหมาส่วนมากจะได้ผู้รับเหมาเจ้าเล็กเหมือนกันพี่มักจะต้องตกลงเลยว่าอย่างน้อยผู้รับเหมาเจ้านั้น ต้องเปิดออโต้แคดเป็น และรับส่งอีเมล์ได้ มีครั้งหนึ่งที่พี่ไปรับงานออกแบบที่หัวหินซึ่งผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าใจแบบได้เลยพี่ต้องไปมาหัวหินแบบนั้นอาทิตย์ละครั้ง-2ครั้งเลยทีเดียว จนทำให้พี่รับงานที่หัวหินไปด้วยเลย3งานเพราะจะได้ไปทีเดียวคุ้มๆ
ปัญหาอีกข้อเลยคือเรื่องการรางวัดเพราะยิ่งงานที่มีสเกลเล็กขนาดไหนการรางวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมากการทำให้พื้นที่หายไปแค่50เซนติเมตรนี้มีผลมากต่อตัวงานออกแบบของเรา
ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือเวลาเราไปรับงานของบริษัทใหญ่ๆที่มักจะดูแต่พื้นที่ขายเราต้องตกลงและคุยกับเค้าให้ดีก่อนว่าลักษณะงานของเราเป็นอย่างไรเพื่อความสบายใจของทั้ง2ฝ่าย แต่การทำงานกับบริษัทใหณ่ๆมักจะไม่มีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาพูดอีกอย่างคือเราเนี้ยละปัญหาของผู้รับเหมา เราต้องทำงานแข่งกับเค้าเลยทีเดียว แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ พี่ก็ชอบทำงานสเกลเล็กๆมากกว่านะ
ปัญหาเรื่องงบประมาณก็สำคัญบางครั้งเราออกแบบมาดีขนาดไหนแต่งบประมาณหายไปแล้วเนี้ยงานของเราก็จะไม่สมบูรณ์ต้องคิดเผื่อในจุดนี้ด้วย
ปัญหาอีกข้อที่สำคัญก็คือเวลาจะดีลงานกับลูกค้า เราต้องรู้ว่าใครที่เป็นคนกุมอำนาจในที่ประชุมนั้นๆ เพราะถ้าเจ้าของมีหลายคนมีหลายความคิดพี่เชื่อว่างานไม่เดินแน่ๆ มัวแต่ทะเลาะกัน แต่ถ้ามีคนตัดสินใจเด็ดขาดคนนึงงานจะง่ายขึ้นคะ
คนส่วนมากคิดว่าสถาปนิกทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ส่งแม่ยายเลี้ยงหมาพาไปกินข้าว (หัวเราะ) เหมือนในละครซึ่งเราต้องพยายามเข้าใจในจุดนั้นดีดี และต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็นด้วยนะคะ

ปั๊บ : แล้วข้อคิดในการทำงานของพี่คืออะไรครับ

พี่กลาง : - อย่ากลัวอุปสรรคสำคัญมากเพราะสถาปนิกคือวิชาชีพที่อยู่กับอุปสรรคเค้าจ้างให้เรามาแก้ปัญหาคะ
-รักให้มากๆทุ่มทั้งหมดอย่ากลัวว่าเราจะทำไม่ได้ ถ้าเราทุ่มทั้งตัวจริงๆไม่มีงานไหนที่เราทำไม่ได้
-เลือกคบแต่คนดีดี คนดีดีก็จะมาหาเราเอง พี่มีกฏกับตัวเองว่าจะไม่รับงานอโคจรหรือกับคนที่ท่าทางจะมีปัญหาเพราะสมมติเราทำงานให้เค้าแล้วคนรู้จักเค้าเป็นคนไม่ดีเค้าก็จะชักจูงคนประเภทนั้นมาหาเราด้วย เราต้องเลือกคบคนเป็นนะ
- ปฏิเสธงานให้เป็นสถาปนิกจบมาใหม่ๆมักจะทำทุกงานและไม่สนใจว่างานที่รับมาเป็นอย่างไร พี่จะบอกว่าชีวิตคนเรามันสั้นนะ หาสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสุขกับมันนะ
- อย่าเสียใจกับงานที่ทำ ถึงจะไม่ได้สร้างแต่งานทุกอย่างมีประโยชน์กับเรานะฝึกให้เราคิดและทำ สักวันเราอาจจะได้ใช้สิ่งเหล่านั้นก็ได้
- ต้องดูแลลูกน้องให้เต็มที่ สอนให้เค้าคิดให้เป็นและให้เค้าอยู่ได้เมื่อไม่มีเรา
- ความปลอดภัยมันมักจะแปรผันกับความสวยงาม

ปั๊บ : พี่มีความคิดอย่างไรกับจรรยาบรรณวิชาชีพ การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมครับ

พี่กลาง : เราต้องรับผิดชอบต่อสังคมกับลูกค้านะจรรยาบรรณส่วนใหญ่พี่จะบอกว่าเราต้องทำหมดอยู่แล้ว ทั้งกฏหมายหรืออะไร แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือมารยาทของสถาปนิก คือเราต้องไม่ลอกงานใคร และอย่าทำตัวเป็นหมากรับใช้นายทุน อย่าไปแนะนำการเลี่ยงกฏหมายเพื่อผลประโยชน์พี่ว่ามันน่าเกลียด งานที่เราออกแบบต้องเข้ากับชุมชนและอยู่กับชุมชนได้นะ
ส่วนเรีื่องของสิ่งแวดล้อมพี่จำคำสอนหนึ่งของอาจารย์จิ๋วไว้เสมอคือหลักของ Genius Loci อาจารย์มักจะย้ำให้ฟังตลอดถึงหลักการข้อนี้คืองานออกแบบของเราต้องกลมกลืนและสร้างเอกลักษณ์ให้กับชุมชนนั้นได้และการออกแบบเพื่อให้สถานที่นึงๆมีเอกลักษณ์หรือบรรยากาศเฉพาะตัวเช่นงานโรงแรมที่ปายที่กล่าวถึงทางด้านต้น และมีอีกงานหนึ่งที่พี่ไปสร้างโรงแรมแถวชุมชนคนจีนซึ่งเราก็ต้องเคารพเอกลักษณ์ความเป็นตึกแถวพี่ต้องศึกษาความลาดเอียงของหลังคาลักษณะกระเบื้องหรือรูปแบบฟอร์ม จนไปถึงคอนเซปที่ต้องการสะท้อนถึงความเป็นชุมชนเก่าโดยที่เราเข้าไปส่งเสริมชุมชนนั้นๆ

ปั๊บ : แล้วถ้าพูดถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ๆของลาดกระบังมีคุณภาพอย่างไร แล้วมีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงบ้างครับ

พี่กลาง : อืม..พี่ไม่ค่อยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสถาปนิกจบใหม่นะ แต่ถ้าจะพูดถึงคุณภาพก็มีเพื่อนที่ทำงานสถาปนิกพูดถึงอยู่บ่อยๆว่าเด็กลาดกระบังดี ทนดีใช้งานง่ายดี ซึ่งสำหรับพี่ก็โอเคนะมันเป็นความเห็นเชิงบวก แต่ก็อยากให้ลาดกระบังเสริมความคิดให้ด้านการพัฒนาคอนเซ็ปซึ่งพี่เคยไปคุยเรื่องนี้กับอาจารย์ที่คณะแล้วอาจารย์บอกว่าเรามีแนวทางสร้างสถาปนิกที่ทำงานได้จริง ซึ่งตรงจุดนี้พี่คิดว่าเราควรจะเสริมไปบ้างนะ เพราะการที่เราสามารถพัฒนาคอนเซ็ปได้เองงานออกแบบจะง่ายขึ้น ตอนนี้เหมือนเราฝึกให้เด็กเราออกไปทำงานรับใช้คนอื่น แต่ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์ผลงานจากการพัฒนาแนวความคิดควบคู่กันไปด้วยพี่ว่ามันไม่เสียหายหรอกนะพี่ไม่อยากให้เด็กลาดกระบัง Defensive หรือทำงานเชิงรับเพียงอย่างเดียวอยากให้พวกเราเป็นฝ่ายที่ไป Aggressive  เขาบ้างนะ

ปั๊บ : ครับแล้วถ้าพูดถึงบรรยากาศสมัยเรียนละครับ

พี่กลาง : ลาดกระบังไกลมากนะตอนนั้น ถนนหนทางก็ยังไม่ค่อยดีต้องมาทางรถไฟ แต่ถ้าตกรถไฟก็ต้องไปรถเมล์ซึ่งลำบากมาก มาส่งถึงแค่วัดปลูกศรัทธาจากนั้นเราก็เดินกันมาเองเราจะสนิทกันเพราะเดินทางด้วยกันนี้ละ พอขึ้นปี2นี้ก็ไม่ค่อยได้กลับบ้านละจะอยู่สตูดิโอกัน แต่จะอยู่เฉพาะวันไม่มีงานนะมาสังสรรค์กัน (หัวเราะ) เพราะปกติพี่ชอบทำงานที่บ้านมากกว่ามันมีสมาธิมากกว่า สมัยพี่ทำทีสิสพี่มีอาจารย์ตรวจแบบเป็นอาจารย์จิ๋วอาจารย์แกน่ารักมากเป็นห่วงลูกศิษย์ ตอนนั้นพี่ทำทีสิสเกี่ยวกับเรื่องดำน้ำพี่แทบไม่กลับมาตรวจแบบเลยมัวแต่ไปดำน้ำแล้วสนุก อาจารย์แกต้องตามต้องจิกจนพี่กลับมาทำทีสิสจนจบได้


ปั๊บ : ขอขอบคุณพี่กลางมากนะครับที่มาแบ่งปันประสบการณ์ดีดีที่ผมไม่เคยพบเห็นพอเจอผมจะนำข้อคิดและแนวทางปฏิบัติงานของพี่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

พี่ปรีชญา ธีระโกเมน เข้าศึกษา 2527 ปีที่จบการศึกษา 2532