วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พี่กลาง Agaligo Studio

ปั๊บ : ก็ขอเริ่มที่ข้อแรกนะครับพี่กลาง อยากทราบประวัติพี่สักเล็กน้อยว่าเรียนจบเมื่อปีไหน เรียนต่อที่ไหน ตอนนี้ทำงานยังไงครับ

พี่กลาง : พี่ชื่อพี่กลางนะคะพี่เรียนจบจากที่นี้เมื่อปี2532ถ้าเข้าเรียนก็ปี2527เป็นรุ่นน้องพี่ไก่ปีนึง พอจบออกมาก็ไปทำงานที่บริษัท Tandem อยู่8ปีคะจากนั้นก็ไปศึกษาต่อที่ M.arch ,UW(University of Washington, Seattle) ซึ่งระหว่างศึกษาเนี้ยเนื่องจากเราเป็นคนที่อายุมากกว่านักศึกษาทั่วไปที่นั้น(หัวเราะ) อาจารย์จึงมักเรียกเราให้เป็นผู้ช่วยสอนด้วย

university of washington


ปั๊บ : แล้วการเรียนการสอนที่ต่างประเทศเนี้ยแตกต่างจากเมืองไทยมากไหมครับ

พี่กลาง : จะว่าไปก็คล้ายกับเราตอนปี5นะ แต่การเรียนที่นั้นเค้าจะเน้นให้เราโชว์ความสามารถที่เราถนัดและเด่นชัด ซึ่งการศึกษาในระดับปริญญาโทคือการแสดงความสามารถของเราให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ให้ได้ด้วยวิถีการหนึ่งๆ ซึ่งจะแตกต่างจากการเรียนที่เราผ่านมาการทำวิทยานิพนธ์ก็เหมือนกับแสดงออกว่าเราตั้งใจและสนใจในเรื่องไหนเราเข้าไปอยู่กับมันได้ด้วยวิธีอะไร

ปั๊บ : หัวข้อวิทยานิพนธ์ของพี่คืออะไรครับ

พี่กลาง : คือตอนที่พี่ทำวิทยานิพนธ์มรอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์มาก และพี่ก็สนใจในเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้พื้นที่ว่างหนึ่งๆว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร พี่จึงขอคำปรึกษาอาจารย์และนำทั้ง2อย่างมาผนวกกัน ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมต่างๆกันของผู้ใช้พื้นที่ในพื้นที่หนึ่งๆเช่นการกินข้าวเรากินกันอย่างไร การจัดวางเฟอร์นิเจอร์สิ่งของ ซึ่งพี่เชื่อว่าพฤติกรรมของผู้ใช้งานเป็นจุดสำคัญในการออกแบบสเปซและจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวงานคะ

ปั๊บ : หลังจากจบแล้วพี่กลับมาที่เมืองไทยเลยไหมครับ

พี่กลาง : ยังคะอาจารย์ขอให้ช่วยงานในมหาลัยก่อนอีก1ปีหลังจากนั้นจึงค่อยเดินทางกลับคะ

ปั๊บ : หลังจากกลับมาพี่ทำงานที่ไหนต่อครับ

พี่กลาง : พี่เรียกได้ว่าโดนบริษัท Tandem ดึงตัวกลับไปแทบทันทีที่ลงจากเครื่องเลยคะเพราะเป็นสถาปนิกเก่าของเค้า เค้าจึงจัดระบบให้พี่เป็นฝ่ายบริหารแล้วคอยดูแลงานในส่วนต่างๆในบริษัทซึ่งมาถึงจุดนึงพี่คิดว่ามันไม่ใช่ตัวพี่ เพราะพี่เป็นคนรักในงานออกแบบและก็อยากออกแบบ เวลาในการออกแบบของสถาปนิกคนนึงมันน้อยนะพี่ว่าเราจะได้ออกแบบแค่ช่วงแรกๆที่เราจบออกมาเท่านั้นแหละ พอเราแก่ตัวและมีความสามารถความรับผิดชอบมากขึ้น เราก็ต้องไปดูแลงานที่สเกลใหญ่มากขึ้นการที่เราจะได้งานมานั่งออกแบบนั้นน้อยมาก พอถึงจุดอิ่มตัวกับงานบริหารพี่ก็ลาออกมาทำ Freelance คะ

ปั๊บ : งาน Freelance ที่พี่ทำนี้ทำงานในลักษณะไหนครับ

พี่กลาง : พี่ออกมาเปิดบริษัทเล็กๆชื่อว่า AGALIGO STUDIO กับพี่เล็กซึ่ง Agaligo นี้มาจากภาษาบาลีแปลว่าไม่ขึ้นกับกาลเวลาเป็นการสื่อถึงว่างานของเรานั้นจะไม่ได้แก่หรือเชยตามการเวลาเป็นงานที่ดึงเอาตัวผู้ใช้สะท้อนออกมาในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งตอนที่พี่เริ่มออกมาทำ Freelance พี่อายุประมาณ35-36ปี โดยงานส่วนมากที่รับในช่วงนั้นคือได้มาจากลูกค้าเก่าของเราที่ติดใจผลงานสมัยที่ยังอยู่ที่ออฟฟิตเก่าเลยตามเราออกมาด้วย งานที่พี่รับส่วนมากจะสเกลไม่ค่อยใหญ่นักนะ เป็นงานสเกลบ้าน resort apartment condo ซึ่งพี่ไม่ค่อยสนใจทางด้าน commercial เท่าไหร่นั้นซึ่งหากลูกค้าคนไหนมีแนวความคิดไม่ตรงกันพี่จะแนะนำให้ไปทำกับคนอื่นดีกว่าเพราะจะเสียความรู้สึกทั้งสองฝ่าย พี่อยากให้งานออกมาดีที่สุดโดยตรงใจทั้งเจ้าของและผู้ออกแบบ จะได้ทำงานง่ายและมีความสุขทั้ง2ฝ่าย

agaligo studio
ปั๊บ : ครับแล้วทำ Freelance นี้ดีกว่าทำงานในบริษัทใหญ่ไหมครับ

พี่กลาง : ดีกว่านะมันเป็นอิสระกว่าโดยความคิดของพี่ พี่จะตกลงกับพี่เล็กไว้ว่าเราจะทำงานปีเว้นปีนะเพือให้เราได้ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ เติมพลังของตัวเองแล้วกลับมาลุยงานกันต่อ ซึ่งงานแต่ละงานที่เรารับเราก็ดูแลทั้งหมดจริงๆ ตั้งแต่ออกแบบ งานโครงสร้าง งานอินทีเรียน งานตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ จนบางครั้งลามไปถึงการออกแบบชุดพนักงาน เนื้อผ้า ชุดเครื่องจานชามช้อน เมนูอาหาร ถึงเพลงที่เปิดในรีสอร์ทนั้นๆเลยก้มี (หัวเราะ)

ปั๊บ : โห ทำไมพี่ต้องทำถึงขั้นนั้นครับ

พี่กลาง : พี่ว่าบางครั้งมันเกิดจากตัวเราด้วยนะ พอเราทำอะไรสักอย่างแล้วเรารู้สึกชอบเราจะพยายาม keep concept ให้กับลูกค้าพอเราทำไปถึงขั้นหนึ่งลูกค้าจะเห็นความจริงใจของเราแล้วก็เชื่อเรานะ เห็นว่าเราพยายามให้สิ่งดีดีกับเค้า ซึ่งอย่างที่พี่ว่าไว้ว่าตัวงานสถาปัตยกรรมของเราต้องสะท้อน Character ของเจ้าของให้มากที่สุดเราเป็นเหมือนกระจกที่พยายามทำให้เจ้าของภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง เอกลักษณือย่างหนึ่งในการออกแบบของพี่คือการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้เป็นหลัก มีสถาปนิกหลายคนมีปัญหาเวลาคุยงานกับอินทีเรียเพราะจะโดนเปลี่ยนแบบไปเยอะมาก นั้นเพราะเราไม่สนใจในพฤติกรรมจริงๆ ถ้าเราศึกษานะเราจะรู้ถึงการเปิดช่องเปิดกับความสัมพันธ์ในพฤติกรรมของผู้ใช้ในพื้นที่นั้นด้วย

ปั๊บ : งานเยอะขนาดนี้พี่มีคนช่วยไหมครับ

พี่กลาง : พี่มี Outsource 4คนซึ่งแต่ละคนก็จะเก่งไปคนละแบบบางครั้งเราก็มั่นใจในฝีมือให้เค้าไปออกแบบมาบ้างแล้วเราช่วยเค้าตรวจแบบ และใช้ชื่อผลงานในนามบริษัทคะ

ปั๊บ : งั้นข้อถัดไปนะครับพี่ งานหรือผลงานที่พี่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพครับ


พี่กลาง : อืมมีหลายงานที่พี่ชอบนะ มีHotel des artists, rose of pai เป็นงานหนึ่งที่พี่ชอบมากคือเจ้าของมีพื้นที่อยู่ที่ปายเป็นบ้านร้างเค้าต้องการรีโนเวทบ้านร้างประจำปายเนี้ย ให้กลายเป็นโรงแรมเล็กๆขนาด14ห้อง โจทย์ของเราเหมือนเราเข้าไปชุบชีวิตให้กับสิ่งก่อสร้างนี้ให้มันกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งการทำงานที่พี่ชอบคือการรีโนเวทครั้งนี้ พี่แทบไม่ทิ้งอะไรออกไปจากตัวงานเลย การปรับปรุงโครงสร้างไม้ชั้นใต้ถุนมีการดีดบ้านแล้วเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูน พี่ก็นำไม้ที่เอาออกมามาดีไซน์ตัวอาคารล้อบบี้ทางด้านหน้า เฟอร์นิเจอร์เก่าๆเชยๆในบ้านพี่ก็นำมาตกแต่งใหม่หาที่วางที่เหมาะสมให้กับเค้า กลายเป็นมันเก๋ไปเลย ลายฉลุเชยๆ พอนำมาพ่นสีดำแล้วติดเข้าไปกับผนังกลายเป็นว่ามันเท่ห์ไปซะอย่างนั้น งานนี้พี่ค่อนข้างมีความสุขกับมันมาก อีกอย่างช่วงเวลาที่ทำงานชิ้นนี้คือทำในปีเที่ยวของพี่ พี่เลยได้ไปอยู่กับมันออกแบบที่หน้างานเลยและผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี เพราะเราไม่ได้ไปสร้างสิ่งใหม่ งานชิ้นนี้เป็นการเคารพต่อชุมชนรอบข้างและพัฒนาสิ่งที่ไม่ดีให้กลับมาชีวิตใหม่อีกครั้งเหมือนกับเราไม่ได้เข้าไปทำลายชุมชนนั้นแต่คืนสิ่งดีดีกลับไปให้เค้าต่างหาก
บ้านร้างประจำเมืองปาย กลายมาเป็นโรงแรมสุดฮิป
เสาไม้เก่าจากการรีโนเวทอาคารห้องพักนำมาใช้ออกแบบล้อบบี้

ปั๊บ : แล้วงานที่คิดว่ามีอุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพละครับ

พี่กลาง : อุปสรรคเหรอ มีทุกงานแหละวิชาชีพของเราต้องอยู่คู่กับอุปสรรคนะ อย่างโรงแรมที่ปายเนี้ยอุปสรรคสำคัญเลยคือเรื่องวัสดุกับตัวช่างเพราะเราต้องหาวัสดุจากพื้นที่แถบนั้นซึ่งค่อนข้างมีจำกัด อีกเรื่องคือตัวช่างซึ่งต้องใช้ช่างในพื้นที่ ซึ่งช่างคนนี้มีอายุมากแล้วแต่มีฝีมือดี แต่ต้องดูแลแกดีดีเพราะแกขึ้นลงบันไดไม่ไหวแล้ว ต้องไปรับไปส่งที่บ้านด้วย
งานส่วนมากที่พบเจอในด้านของอุปสรรคเลยคือผู้รับเหมา เพราะเราเป็นบริษัทเล็กการคุยงานกับผู้รับเหมาส่วนมากจะได้ผู้รับเหมาเจ้าเล็กเหมือนกันพี่มักจะต้องตกลงเลยว่าอย่างน้อยผู้รับเหมาเจ้านั้น ต้องเปิดออโต้แคดเป็น และรับส่งอีเมล์ได้ มีครั้งหนึ่งที่พี่ไปรับงานออกแบบที่หัวหินซึ่งผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าใจแบบได้เลยพี่ต้องไปมาหัวหินแบบนั้นอาทิตย์ละครั้ง-2ครั้งเลยทีเดียว จนทำให้พี่รับงานที่หัวหินไปด้วยเลย3งานเพราะจะได้ไปทีเดียวคุ้มๆ
ปัญหาอีกข้อเลยคือเรื่องการรางวัดเพราะยิ่งงานที่มีสเกลเล็กขนาดไหนการรางวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมากการทำให้พื้นที่หายไปแค่50เซนติเมตรนี้มีผลมากต่อตัวงานออกแบบของเรา
ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือเวลาเราไปรับงานของบริษัทใหญ่ๆที่มักจะดูแต่พื้นที่ขายเราต้องตกลงและคุยกับเค้าให้ดีก่อนว่าลักษณะงานของเราเป็นอย่างไรเพื่อความสบายใจของทั้ง2ฝ่าย แต่การทำงานกับบริษัทใหณ่ๆมักจะไม่มีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาพูดอีกอย่างคือเราเนี้ยละปัญหาของผู้รับเหมา เราต้องทำงานแข่งกับเค้าเลยทีเดียว แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ พี่ก็ชอบทำงานสเกลเล็กๆมากกว่านะ
ปัญหาเรื่องงบประมาณก็สำคัญบางครั้งเราออกแบบมาดีขนาดไหนแต่งบประมาณหายไปแล้วเนี้ยงานของเราก็จะไม่สมบูรณ์ต้องคิดเผื่อในจุดนี้ด้วย
ปัญหาอีกข้อที่สำคัญก็คือเวลาจะดีลงานกับลูกค้า เราต้องรู้ว่าใครที่เป็นคนกุมอำนาจในที่ประชุมนั้นๆ เพราะถ้าเจ้าของมีหลายคนมีหลายความคิดพี่เชื่อว่างานไม่เดินแน่ๆ มัวแต่ทะเลาะกัน แต่ถ้ามีคนตัดสินใจเด็ดขาดคนนึงงานจะง่ายขึ้นคะ
คนส่วนมากคิดว่าสถาปนิกทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ส่งแม่ยายเลี้ยงหมาพาไปกินข้าว (หัวเราะ) เหมือนในละครซึ่งเราต้องพยายามเข้าใจในจุดนั้นดีดี และต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็นด้วยนะคะ

ปั๊บ : แล้วข้อคิดในการทำงานของพี่คืออะไรครับ

พี่กลาง : - อย่ากลัวอุปสรรคสำคัญมากเพราะสถาปนิกคือวิชาชีพที่อยู่กับอุปสรรคเค้าจ้างให้เรามาแก้ปัญหาคะ
-รักให้มากๆทุ่มทั้งหมดอย่ากลัวว่าเราจะทำไม่ได้ ถ้าเราทุ่มทั้งตัวจริงๆไม่มีงานไหนที่เราทำไม่ได้
-เลือกคบแต่คนดีดี คนดีดีก็จะมาหาเราเอง พี่มีกฏกับตัวเองว่าจะไม่รับงานอโคจรหรือกับคนที่ท่าทางจะมีปัญหาเพราะสมมติเราทำงานให้เค้าแล้วคนรู้จักเค้าเป็นคนไม่ดีเค้าก็จะชักจูงคนประเภทนั้นมาหาเราด้วย เราต้องเลือกคบคนเป็นนะ
- ปฏิเสธงานให้เป็นสถาปนิกจบมาใหม่ๆมักจะทำทุกงานและไม่สนใจว่างานที่รับมาเป็นอย่างไร พี่จะบอกว่าชีวิตคนเรามันสั้นนะ หาสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสุขกับมันนะ
- อย่าเสียใจกับงานที่ทำ ถึงจะไม่ได้สร้างแต่งานทุกอย่างมีประโยชน์กับเรานะฝึกให้เราคิดและทำ สักวันเราอาจจะได้ใช้สิ่งเหล่านั้นก็ได้
- ต้องดูแลลูกน้องให้เต็มที่ สอนให้เค้าคิดให้เป็นและให้เค้าอยู่ได้เมื่อไม่มีเรา
- ความปลอดภัยมันมักจะแปรผันกับความสวยงาม

ปั๊บ : พี่มีความคิดอย่างไรกับจรรยาบรรณวิชาชีพ การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมครับ

พี่กลาง : เราต้องรับผิดชอบต่อสังคมกับลูกค้านะจรรยาบรรณส่วนใหญ่พี่จะบอกว่าเราต้องทำหมดอยู่แล้ว ทั้งกฏหมายหรืออะไร แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือมารยาทของสถาปนิก คือเราต้องไม่ลอกงานใคร และอย่าทำตัวเป็นหมากรับใช้นายทุน อย่าไปแนะนำการเลี่ยงกฏหมายเพื่อผลประโยชน์พี่ว่ามันน่าเกลียด งานที่เราออกแบบต้องเข้ากับชุมชนและอยู่กับชุมชนได้นะ
ส่วนเรีื่องของสิ่งแวดล้อมพี่จำคำสอนหนึ่งของอาจารย์จิ๋วไว้เสมอคือหลักของ Genius Loci อาจารย์มักจะย้ำให้ฟังตลอดถึงหลักการข้อนี้คืองานออกแบบของเราต้องกลมกลืนและสร้างเอกลักษณ์ให้กับชุมชนนั้นได้และการออกแบบเพื่อให้สถานที่นึงๆมีเอกลักษณ์หรือบรรยากาศเฉพาะตัวเช่นงานโรงแรมที่ปายที่กล่าวถึงทางด้านต้น และมีอีกงานหนึ่งที่พี่ไปสร้างโรงแรมแถวชุมชนคนจีนซึ่งเราก็ต้องเคารพเอกลักษณ์ความเป็นตึกแถวพี่ต้องศึกษาความลาดเอียงของหลังคาลักษณะกระเบื้องหรือรูปแบบฟอร์ม จนไปถึงคอนเซปที่ต้องการสะท้อนถึงความเป็นชุมชนเก่าโดยที่เราเข้าไปส่งเสริมชุมชนนั้นๆ

ปั๊บ : แล้วถ้าพูดถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ๆของลาดกระบังมีคุณภาพอย่างไร แล้วมีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงบ้างครับ

พี่กลาง : อืม..พี่ไม่ค่อยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสถาปนิกจบใหม่นะ แต่ถ้าจะพูดถึงคุณภาพก็มีเพื่อนที่ทำงานสถาปนิกพูดถึงอยู่บ่อยๆว่าเด็กลาดกระบังดี ทนดีใช้งานง่ายดี ซึ่งสำหรับพี่ก็โอเคนะมันเป็นความเห็นเชิงบวก แต่ก็อยากให้ลาดกระบังเสริมความคิดให้ด้านการพัฒนาคอนเซ็ปซึ่งพี่เคยไปคุยเรื่องนี้กับอาจารย์ที่คณะแล้วอาจารย์บอกว่าเรามีแนวทางสร้างสถาปนิกที่ทำงานได้จริง ซึ่งตรงจุดนี้พี่คิดว่าเราควรจะเสริมไปบ้างนะ เพราะการที่เราสามารถพัฒนาคอนเซ็ปได้เองงานออกแบบจะง่ายขึ้น ตอนนี้เหมือนเราฝึกให้เด็กเราออกไปทำงานรับใช้คนอื่น แต่ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์ผลงานจากการพัฒนาแนวความคิดควบคู่กันไปด้วยพี่ว่ามันไม่เสียหายหรอกนะพี่ไม่อยากให้เด็กลาดกระบัง Defensive หรือทำงานเชิงรับเพียงอย่างเดียวอยากให้พวกเราเป็นฝ่ายที่ไป Aggressive  เขาบ้างนะ

ปั๊บ : ครับแล้วถ้าพูดถึงบรรยากาศสมัยเรียนละครับ

พี่กลาง : ลาดกระบังไกลมากนะตอนนั้น ถนนหนทางก็ยังไม่ค่อยดีต้องมาทางรถไฟ แต่ถ้าตกรถไฟก็ต้องไปรถเมล์ซึ่งลำบากมาก มาส่งถึงแค่วัดปลูกศรัทธาจากนั้นเราก็เดินกันมาเองเราจะสนิทกันเพราะเดินทางด้วยกันนี้ละ พอขึ้นปี2นี้ก็ไม่ค่อยได้กลับบ้านละจะอยู่สตูดิโอกัน แต่จะอยู่เฉพาะวันไม่มีงานนะมาสังสรรค์กัน (หัวเราะ) เพราะปกติพี่ชอบทำงานที่บ้านมากกว่ามันมีสมาธิมากกว่า สมัยพี่ทำทีสิสพี่มีอาจารย์ตรวจแบบเป็นอาจารย์จิ๋วอาจารย์แกน่ารักมากเป็นห่วงลูกศิษย์ ตอนนั้นพี่ทำทีสิสเกี่ยวกับเรื่องดำน้ำพี่แทบไม่กลับมาตรวจแบบเลยมัวแต่ไปดำน้ำแล้วสนุก อาจารย์แกต้องตามต้องจิกจนพี่กลับมาทำทีสิสจนจบได้


ปั๊บ : ขอขอบคุณพี่กลางมากนะครับที่มาแบ่งปันประสบการณ์ดีดีที่ผมไม่เคยพบเห็นพอเจอผมจะนำข้อคิดและแนวทางปฏิบัติงานของพี่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

พี่ปรีชญา ธีระโกเมน เข้าศึกษา 2527 ปีที่จบการศึกษา 2532







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น